top of page

อูคูเลเล่ และวงดนตรีฮาวาย เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ ?


เป็นที่น่าเสียดายว่า กว่าที่ผมจะลุกขึ้นขยับค้นคว้าในเรื่องนี้ ท่านผู้รู้ก็แทบจะเสียชีวิตไปเกือบหมดแล้ว

ในเวลานี้ดูเหมือนว่าจะเหลือนักดนตรีรุ่นแรกๆที่ดนตรีฮาวายเริ่มเล่นกันในประเทศไทยเพียงไม่กี่ท่าน จริงๆแล้วผมก็ทราบพอสังเขปมานานแล้วว่าประเทศไทยเรามีวงดนตรีฮาวายเกิดขึ้นในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ไม่เคยสนใจค้นคว้าอะไรจริงจังนัก จนเมื่อมาหัดเล่นอูคูเลเล่นั่นล่ะครับถึงได้เสาะหาข้อมูลอย่างหนัก แต่ก็ดูเหมือนจะสายไปเสียแล้ว ข้อมูลที่ได้มาก็มีอยู่น้อยนิดจริงๆ ต่อไปนี้ขอเชิญทุกท่านย้อนอดีตไปพบกับภาพและเรื่องราวของวงดนตรีฮาวายวงแรกของประเทศไทยได้แล้วครับ

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2482 ประเทศสยามเรามีวงดนตรีประเภทเครื่องสาย ที่เรียกว่า สตริงแบนด์ เกิดขึ้นมีชื่อเสียงอยู่ 4 วงด้วยกัน คือ

1. มาเลย์สตริงแบนด์ เป็นวงแรกของประเทศไทย เหตุที่เรียกชื่อนี้ก็เพราะนักดนตรีเป็นชาวมาเลย์เป็นส่วนใหญ่ 2. มาตุทิศสตริงแบนด์ 3. มิตรอำรุงสตริงแบนด์ 4. วีระโยธินสตริงแบนด์

วงดนตรีเหล่านี้รับงานบรรเลงตามที่ต่างๆในทุกโอกาส เช่นงานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ งานบวช โกนจุกไปจนถึงงานศพก็มีแต่ที่รับงานมากที่สุดคืองานเข้าสุหนัดของพี่น้องชาวไทยมุสลิมแถวชานเมือง เช่น หนองจอก มีนบุรี รองลงมาก็ พระโขนง คลองตัน หัวหมาก บ้านครัว และสี่แยกบ้านแขก

จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2484 วงวีระโยธินสตริงแบนด์ ยุบวงเลิกไป และมารวมกันตั้งวงดนตรีขึ้นมาใหม่ที่บ้านของนาย เซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง จากการค้นคว้าประวัติสกุลสีบุญเรือง (แซ่เซียว) แล้ว ปรากฏว่า สืบเชื้อสายมาจาก เซียวโห มหาอุปราช ในครั้งสมัยพระเจ้าฮั่นโกโจว ในแผ่นดินฮั่น ประมาณราว พันเจ็ดร้อยปีล่วงมาแล้ว

มีหลักฐานภูมิลำเนาอยู่ใน มณฑลฮกเกี้ยน อำเภอน่ำเจ็ง ครั้นต่อมาถึงปลายสมัยแผ่นดินเหม็ง กลางศตวรรษที่ 17 ชาวแมนจูได้ยกทหารมารุกรานย่ำยีประเทศจีน มณฑลฮกเกี้ยน ทางฝ่ายชาวเมืองฮกเกี้ยน ได้ทำการต่อสู้ เพื่อกู้แผ่นดินแต่ก็ได้พ่ายแพ้เพราระแมนจูมีกำลังมากกว่า สกุลแซ่เซียวจึงได้อพยพข้ามทะเลไปยัง เกาะฟอร์โมซา หรือที่เรียกต่อมาว่าไต้หวัน สกุลแซ่เซียวจึงได้แตกแยกออกเป็นสามสาย สายที่หนึ่ง ได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอแต้เอี้ย สายที่สอง ได้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ อำเภอตงซัว ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ ดร.ซุนยัดเซ็น

สายที่สาม ได้ข้ามทะเลไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ สหปาลีรัฐมะลายู จังหวัดมะละกา และต่อมาได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในประเทศสยาม และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น ในปี พ.ศ.2463 นายเซียวฮุดเส็ง จึงได้ไปขอนามสกุล ต่อรัฐบาลสยามว่า “สีบุญเรือง” ซึ่งได้ใช้สืบต่อมาจนทุกวันนี้

โดยหลานชายของเจ้าของบ้านคือ นาย สันติ สีบุญเรือง ได้ชักชวนนายฮอน หาญบุญตรง เข้ามาเล่นกีต้าร์ฮาวายจึงเป็นที่มาของชื่อวงดนตรีฮาวายของนายฮอน หาญบุญตรง ตั้งแต่นั้นมา

จากการสัมภาษณ์ทายาทของครูฮอน หาญบุญตรง ก็ได้ทราบว่าครูฮอนนั้นสืบเชื้อสายไหหลำและอพยพลี้ภัยสงครามจากถิ่นฐานบ้านเกิดบนเกาะไต้หวันมาสู่ประเทศไทยจึงน่าจะเชื่อมโยงเหตุการณ์ได้ว่าครูฮอนนั้นมีความสนิทชิดเชื้อกับตระกูลสีบุญเรืองในฐานะเพื่อนร่วมชาติ และด้วยฝีไม้ลายมือในการเล่นดนตรีจึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าวงดนตรีฮาวายวงนี้อีกด้วย

วงดนตรีฮาวายของนายฮอน หาญบุญตรง มีงานแสดงประจำเล่นสลับฉากกับภาพยนตร์ครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์เที่ยนกัวเทียน เรื่อง แซโหล่ และต่อมาก็มาแสดงสลับภาพยนตร์พากย์ไทยโดยทิดเขียวเรื่อง หนุ่มอ้อนสาวออด ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร ต่อมาในปี พ.ศ.2486 วงดนตรีวงนี้ เริ่มมีชื่อเสียง แต่เพลงที่เล่นก็ยังมีน้อย เป็นเพลงฝรั่งทั้งหมด ครูฮอน และคณะจึงไปหาครูเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งดังที่สุดในยุคนั้น เพื่อขอให้ท่านได้แต่งเพลงให้กับวงดนตรีฮาวายในขณะนั้นเป็นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพยนตร์จากต่างประเทศก็ไม่สามารถผลิตขึ้นได้ มีแต่หนังฝรั่งฉายซ้ำไปมาอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องราวชีวิตคนบนเรือในทะเล ครูแก้ว อัฉริยะกุล จึงนำมาเขียนบทพากย์ไทยและตั้งชื่อใหม่ในเรื่องว่า พรานทะเล และครูแก้วกับครูเอื้อ ก็ร่วมกันแต่งเพลงชื่อเดียวกับหนังคือ พรานทะเล ผู้ขับร้องคนแรกคือ สิงห์ อิ่มลาภ บรรเลงโดยวงดนตรีฮาวาย ฮอน หาญบุญตรงแสดงสลับฉากกับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ศาลาเฉลิมกรุง

เครื่องดนตรีหลักในวงดนตรีฮาวายได้แก่ Lap Steel Guitar หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า กีต้าร์ฮาวาย ซึ่งวิธีการเล่นก็จะนำกีต้าร์วางพาดบนตักแล้วมี Slide Bar รูดไปบน Fret เพื่อเปลี่ยนเสียง ทำหน้าที่เป็นตัวนำของวง ไว้บรรเลง Melody และที่ขาดไม่ได้คือ Ukulele เป็นเครื่องดนตรีคู่ซี้ทำหน้าที่บรรเลง Chord ประสานให้กับ Lap Steel Guitar นอกจากนี้ก็มีเครื่องดนตรีอื่นๆที่คอยช่วยเสริมให้วงมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ได้แก่ Guitar , Double Bass และ กลองชุด

จากการสัมภาษณ์ ม.ร.ว.ถนัดศรี ฯ ซึ่งท่านเคยได้ชมการแสดงของวงดนตรีฮาวาย ฮอน หาญบุญตรง ได้เอ่ยถึงเพลงที่ได้รับความนิยมในยุคนั้นหลายเพลง อาทิเช่น Tiger Rag , Sleepy Lagoon , Hawaiian War Chant , On the Beach at Waikiki และ Aloha 'Oe เป็นต้น

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ คราวนี้เราก็ได้ทราบกันแล้วว่าเมืองไทยเรามีการเล่น Ukulele กันมาช้านานไม่แพ้ชาติใดๆในโลกเช่นกัน ถึงแม้เสียงของเจ้า Ukulele นั้นจะห่างหายจากสังคมไทยไปหลายสิบปี แต่ในวันนี้พวกเราก็เป็นส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งที่นำเจ้าสี่สายสำเนียงฮาวายนี้กลับมาให้ได้ยินได้ฟังกันอีกครั้ง

และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการกลับมาของ Ukulele ในครั้งนี้ จะเป็นก้าวที่สำคัญและยั่งยืนตลอดไป

ท้ายที่สุด ขอกราบขอบพระคุณบุคคลต่อไปนี้

- คุณอุทัย หาญบุญตรง บุตรชายของครูฮอน ที่ได้ให้ข้อมูลรวมทั้งภาพประกอบที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เหล่านี้มาปรากฏแก่สายตาของผู้อ่านทุกท่าน

- ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ในความกรุณาที่ได้สละเวลาอันมีค่าของท่านให้ผมได้ไปสัมภาษณ์

- ครูใหญ่ นภายน มือเบสของวงดนตรีฮาวาย ฮอน หาญบุญตรง ซึ่งแม้ท่านจะล่วงลับไปนานแล้ว แต่ก็ได้ฝากงานเขียนบทความชิ้นสำคัญไว้มากมายให้ผมได้ทำการสืบค้น

ขอบคุณที่ติดตามอ่านและพบกันในโอกาสหน้าครับ

นาย Bolero

bottom of page